ตามที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับเช้าวันพุธที่ 15 พฤษภาคม ศกนี้ ได้สัมภาษณ์คุณปัญญภัสสร์ นพพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ในเรื่อง "ตอบโจทย์ผังเมือง กทม ผู้บริโภคได้อะไร" ผมไม่เห็นด้วยกับบทสัมภาษณ์นี้เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ผมจึงขออนุญาตให้ข้อมูลในอีกด้านหนึ่ง ดังนี้:
1. ผังเมืองไม่มีแผนการที่ชัดเจนและมีประสิทธิผลต่อการป้องกันปัญหาภัยพิบัติดังอ้าง ยิ่งกรณีการลดโลกร้อน ยิ่งไม่เป็นความจริง มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมามุ่งกีดกันการพัฒนา และเพียงปัดปัญหาให้ออกไปจากกรุงเทพมหานคร สู่ปริมณฑลเท่านั้น นี่จึงไม่ใช่การวางแผนที่ดี สวนสาธารณะที่อ้างอิงถึง ก็ไปนับรวมสวนในโครงการจัดสรรเอกชน ค่ายทหาร พื้นที่ปลูกต้นไม้ในเกาะกลางถนน ฯลฯ การสร้างใหม่แทบจะไม่มีจริง
2. ที่บอกว่าจะตัดถนนใหม่ 140 สายนั้น เป็นเพียงแผนเท่านั้น หลายสายวางไว้ตั้งแต่ผังเมืองฉบับก่อน ๆ แล้ว ที่สำคัญยังไม่มีงบประมาณการก่อสร้างจริงแต่อย่างใด
3. ที่อ้างว่าจะส่งเสริมเขตมีนบุรี ให้เป็นพื้นที่ศูนย์ชุมชนชานเมือง ก็ไม่เป็นความจริง เพราะรถไฟฟ้าสีชมพูและสีส้ม ที่อ้างถึงว่าจะผ่านบริเวณดังกล่าว ก็ไม่รู้จะสร้างเมื่อใด เป็นไปได้ที่ผังเมืองหมดอายุไปแล้ว ก็ยังไม่ได้สร้าง และในพื้นที่ธุรกิจดังกล่าว ก็ให้สร้างได้อย่างจำกัด กทม. ควรคิดใหม่ให้ศูนย์ธุรกิจชานเมืองสามารถสร้างได้อย่างหนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowded) เพื่อไม่ให้เมืองเติบโตแบบราบ ๆ ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นที่วางผังไว้นี้
4. ผังเมืองนี้ซึ่งมีสถานะเป็นเพียงประกาศกระทรวงมหาดไทย กลับควบคุมอาคารยิ่งกว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่มีอยู่แล้ว เช่น ตาม พรบ.ควบคุมอาคาร กำหนดให้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้บนถนนที่มีความกว้าง 10 เมตร กทม. ก็ไปกำหนดเป็น 12 เมตร 16 เมตร หรือแม้แต่ 30 เมตร จึงจะสร้างอะพาร์ตเมนต์ทีมีขนาด 1,000 ตรม.ขึ้นไปได้ ส่วน พรบ.จัดสรรที่ดินกำหนดให้สร้างทาวน์เฮาส์ได้ในขนาดที่ 16 ตารางวา กทม.กลับกำหนดให้ทาวน์เฮาส์ในหลายบริเวณต้องมีขนาด 20 ตารางวา หรืออาจต้องมีขนาดใหญ่กว่านั้นในบางแห่ง
5. กรณีการให้โบนัสเพิ่มเติม เช่น อยู่ใกล้รถไฟฟ้า ก็ต้องเป็นสถานีรถไฟฟ้าที่ใช้งานแล้ว ไม่ใช่ที่กำลังก่อสร้าง ที่บอกให้โบนัสหากใช้ประโยชน์สาธารณะ เป็นมาตรการที่เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ได้โบนัสจริง เป็นแค่ "ราคาคุย" เท่านั้น
6. ที่ กทม. คุยว่าจะให้พื้นที่โล่งมากมายแก่ประชาชนนั้น เป็นการเอาพื้นที่ของเอกชนไปนับรวม "ตู่" เอาไปเฉย ๆ ในพื้นที่สีเขียวบางแห่ง ประชาชนเรียกร้องอย่างต่อเนื่องมาหลายผังเมืองแล้ว ขอให้แก้ไข แต่ไมได้รับการแก้ไข กทม. อ้างว่าต้องการกันพื้นที่รอบนอกให้เป็นสีเขียว เป็น Buffer Zone กับจังหวัดปริมณฑล แต่ปรากฏว่า ในจังหวัดปริมณฑลกลับพัฒนาได้โดยไม่มีข้อจำกัด ถือเป็นการรอนสิทธิประชาชนและสร้างความไม่เท่าเทียม
7. เรื่องการส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กทม. มักอ้างว่าหากให้สร้างอาคารชุดขนาดใหญ่ในซอยสุขุมวิท จะไม่ปลอดภัยเพราะเสี่ยงต่อไฟไหม้ แต่ความจริงไฟไหม้อาคารสูงน้อยมากและลดลงตามลำดับ ข้ออ้างนี้จึงไม่เป็นความจริง ส่วนกรณีที่การก่อสร้างอาคารใหญ่ไปสร้างปัญหาเพื่อนบ้าน อยู่ที่การจัดการของ กทม. ที่ควรรักษากฎหมายโดยเคร่งครัด ในความเป็นจริง ใช่ว่าเจ้าของที่ดินในสุขุมวิทส่วนใหญ่จะต้องการรักษาให้มีสภาพเป็นบ้านเดี่ยว เจ้าของที่ดินจำนวนมากทยอยสร้างอาคารขนาดใหญ การออกผังเมืองอย่างนี้เป็นการรอนสิทธิของเจ้าของที่ดิน
8. ที่ว่าคนในเขตกรุงเทพมหานครจะได้อะไรต่าง ๆ มากมายจากผังเมือง ล้วนไม่เป็นความจริง มีแต่เสีย เพราะต้องระเห็จออกไปอยู่นอกเมือง ประชากรกรุงเทพมหานครลดลงโดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเพราะมาตรการผังเมืองที่ปัดความรับผิดชอบต่อประชากรของตนเองออกไปนอกเมือง
ผมออกมาเคลื่อนไหวเรื่องผังเมืองนี้ ไม่ใช่เพราะมีผลประโยชน์ส่วนตัวใด ๆ เลย ผมไม่ได้ทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน ไม่ได้ทำธุรกิจนายหน้า เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและศูนย์ข้อมูลที่เป็นกลาง ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของนักพัฒนาที่ดิน นายธนาคารหรือหน่วยราชการใด ๆ โดยถือเป็นอิสระอย่างแท้จริง ขอสื่อมวลชนต่าง ๆ โปรดนำเสนอถึงอันตรายของผังเมืองรวม กทม. ฉบับนี้ และแง่คิดที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนนี้ด้วยเถิด
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
AREA แถลง ฉบับที่ 53/2556: 15 พฤษภาคม 2556
อันตรายของผังเมือง กทม. ที่ประชาชนจะเสียหาย
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th; www.facebook.com/dr.sopon
ที่มาhttp://www.area.co.th