วันนี้
Home » , » การรับมรดกที่ดิน, จดทะเบียนผู้จัดการมรดก

การรับมรดกที่ดิน, จดทะเบียนผู้จัดการมรดก

การรับมรดกที่ดิน, จดทะเบียนผู้จัดการมรดก
กรณีเจ้าของที่ดินเสียชีวิต
เมื่อเจ้าของที่ดินหรือผู้มีชื่อในเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน  ( เช่น โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.๓ หรือ น.ส.๓ ก. หรือ น.ส.๓ ข.)  ตายลงไป  ที่ดินแปลงนั้นก็จะเป็นมรดก  ซึ่งจะตกทอดแก่ทายาทของผู้ตาย  โดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรมที่เจ้ามรดกทำไว้

ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรมมี ๖ ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง ดังต่อไปนี้
1).ผู้สืบสันดาน (บุตร, หลาน, เหลน, ลื้อ)
2). บิดา มารดา
3). พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4).พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน
5).ปู่ ย่า ตา ยาย
6). ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกร่วมกับทายาทโดยธรรมทั้ง ๖ ลำดับ
โดยผู้มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินจะต้องไปขอจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินนั้นที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ในกรณีมีเอกสารเป็นโฉนดที่ดิน น.ส. ๓ ข. และสำนักงานที่ดินอำเภอ ในกรณีมีเอกสารเป็น น.ส.๓, น.ส.๓ ก. ถ้าท้องที่ใดที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกเลิกอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายที่ดินแล้ว ไม่ว่าที่ดินจะเป็นโฉนดที่ดิน น.ส.๓ หรือ น.ส. ๓ ก.,น.ส.๓ ข. จะต้องไปขอจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินตั้งอยู่

หลักฐานที่ต้องนำไปประกอบการขอรับมรดก คือ
-โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองทำประโยชน์
-บัตรประจำตัว
-ทะเบียนบ้าน
-หลักฐานการตายของเจ้ามรดก เช่น มรณบัตร
-พินัยกรรม (ถ้ามี)
*ถ้าผู้ขอ ขอรับมรดกในฐานะเป็นคู่สมรส ต้องมีหลักฐานการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
*ถ้าผู้ขอรับมรดกเป็นบิดาเจ้ามรดก ต้องมีทะเบียนสมรสกับมารดาของเจ้ามรดกหรือหลักฐานการรับรองบุตร
*กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้ขอรับมรดก ต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
*ถ้ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับมรดก ต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแสดง
*ถ้ามีผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกันหลายคน บางคนได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ต้องมีหลักฐานการตายของทายาทนั้น ๆ

ในกรณีที่มีผู้จัดการมรดก หลักฐานที่ต้องนำไป คือ
-คำสั่งศาลหรือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด หรือพินัยกรรมซึ่งตั้งให้ผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดก
-หลักฐานการตายของเจ้ามรดก
-ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวของผู้จัดการมรดก
-โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน
ค่าคำขอ แปลงละ ๕ บาท
ค่าประกาศมรดก แปลงละ ๑๐ บาท
ค่าจดทะเบียนผู้จัดการมรดก แปลงละ ๕๐ บาท
ค่าจดทะเบียนโอนมรดก ร้อยละ ๒ ตามราคาประเมินทุนทรัพย์
ในกรณีโอนมรดกระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือระหว่างคู่สมรส เรียกตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ร้อยละ ๐.๕

การมอบโอนมรดกกรณีเจ้าของที่ดินยังมีชีวิตอยู่ 
ขั้นตอนจะไม่ยุ่งยาก เพราะสามารถนัดโอนปกติ โดยการโอน "ให้"ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม ๖ ลำดับ ที่กล่าวข้างต้นได้
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของที่ดินหรือผู้มีชื่อในเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน จะมอบให้กับใคร



ขอบคุณข้อมูลอันเป็นประโยชน์
http://www.dol.go.th